ถามตอบกฎหมายข่าว หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 14 เมษายน 2567 จับบัญชีม้าคาเอทีเอ็ม…

ถามตอบกฎหมายข่าว หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 14 เมษายน 2567
จับบัญชีม้าคาเอทีเอ็ม เงินสดในมือ 8 แสน ส่งธุรกิจสีเทาเขมร!
ตำรวจ บก.ปปป.ฐานะชุดปฏิบัติการพิเศษดีอี ซุ่มโป่งดักรวบแก๊งบัญชีม้าคาตู้เอทีเอ็ม 2 แก๊ง ในพื้นที่ จ.สระแก้ว ชุดแรกจับคนไทยระหว่างใช้บัตรเอทีเอ็มโอนเงินที่ตู้แบงก์รวงข้าวในตลาดโรงเกลือ โอนเงินไปยังบัญชีอื่นแล้ว 2 ครั้ง สารภาพสิ้นไส้ เป็นสมุนเว็บพนันออนไลน์ใหญ่ “UFABET911” ได้เงินเดือน 18,000 บาท อีกชุดจับ 2 ชาวกัมพูชา พร้อมเงินสดกว่า 8 แสนบาท ที่เพิ่งกดออกมาจากตู้เอทีเอ็มแบงก์รวงข้าวคลองลึก เจอหลักฐานทั้งโทรศัพท์มือถือที่เปิดในชื่อคนอื่น สลิปเบิกเงินสดและโอนเงินเพียบ รับทำธุรกรรมให้ธุรกิจสีเทาไปแล้วกว่า 1.5 ล้านบาท ถ้าไม่ถูกจับจะนำเงินสดข้ามแดนกลับไปยังประเทศกัมพูชาส่งให้ผู้ร่วมขบวนการ
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 269/5 ผู้ใดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6820/2552 การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัท บ. อันเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) ซึ่งออกให้แก่ น. ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ น. และบริษัท บ. แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 188
การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัท บ. ซึ่งออกให้แก่ น. แล้วใช้บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดอันเป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดโดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 269/5 และ มาตรา 269/7 รวม 3 ครั้ง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยแยกออกเป็นข้อๆ และการกระทำตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในแต่ละข้อต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัวเองต่างกรรมต่างวาระ ทั้งทรัพย์ที่จำเลยได้จากการกระทำผิดก็เป็นทรัพย์คนละประเภทแตกต่างกัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตกับฐานใช้บัตรเครดิตจึงเป็นความผิดหลายกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล้องวีดีโอและกล้องถ่ายรูปดิจิทัลแทนการชำระด้วยเงินสดจำนวน 3 คราว การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นความผิด 3 กรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2553 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ซ. ซึ่งได้ออกให้แก่ ส. ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งที่จำเลยลักไปเพื่อใช้ประโยชน์ในการเบิกถอนเงินสด ถอนเงินสดจำนวน 100,000 บาท ไปจากวงเงินเครดิตของผู้เสียหายโดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายและธนาคาร ซ. ดังนั้น คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการนำเอาบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ซ. ซึ่งธนาคารออกให้แก่ผู้เสียหาย ที่จำเลยลักไปจากผู้เสียหาย ไปทำการถอนเงินสดจำนวน 100,000 บาท และยังมีคำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 100,000 บาท ย่อมแปลคำฟ้องของโจทก์ได้ว่า โจทก์มุ่งประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยฐานลักเงินของผู้เสียหายอยู่ด้วย เพียงแต่วิธีการลักเงินดังกล่าวก็โดยการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนเงินสดผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติ จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 บัญญัติให้พนักงานอัยการมีอำนาจขอให้เรียกทรัพย์สินหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหายโจทก์จึงมีอำนาจขอให้จำเลยคืนหรือใช้ทรัพย์แทนผู้เสียหายได้
แหล่งที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
สำนักวิชาการ
สงสัยกฎหมาย 0816116174 ดร.เกรียงศักดิ์ พินทุสรศรี

ดูโพสต์ใน Facebook

ที่มา : ทนายความ

CHANGE LANGUAGE

แชร์หน้านี้